Error Get_Content_View : Column 'ContentDetail' does not belong to table .
Loading

วันที่ 5 กรกฎาคม 2564 สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จออก ณ ห้องประชุมวังสระปทุม ทอดพระเนตรการดำเนินงานโครงการผลิตพันธุ์ข้าวหอมมะลิ 105 พระราชทาน “เพื่อนช่วยเพื่อน”

  • ประเภทสื่อ : สื่อภาพ
  • ประเภทโครงการ : โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ
  • ที่มาของสื่อ : สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (สำนักงาน กปร.)
  • แบ่งปัน :

การนี้ ผู้บริหาร มูลนิธิชัยพัฒนา และสำนักงาน กปร. พร้อมเจ้าหน้าที่ เฝ้า ฯ รับเสด็จ ณ อาคารสำนักงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ กรุงเทพฯ 

   โดยได้ทอดพระเนตรการผลิตพันธุ์กบพระราชทาน ของนายบุญธรรม เรือนน้อย ซึ่งเป็นสมาชิกผู้ผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวหอมมะลิ 105 พระราชทาน เพื่อนช่วยเพื่อนของศูนย์พัฒนาพันธุ์พืชจักรพันธ์เพ็ญศิริ จังหวัดสุรินทร์ ได้ประกอบอาชีพเสริมเป็นการเลี้ยงกบพื้นบ้านทุ่งกุลาและได้เข้าร่วมเป็นผู้ผลิตพันธ์กบพระราชทานเมื่อปลายปี 2563 โดยนำกบมาเลี้ยงและขยายพันธุ์ด้วยวิธีธรรมชาติตามภูมิปัญญาชาวบ้าน มีผลผลิตเข้าร่วมเป็นพันธุ์กบพระราชทาน แล้ว 81,097 ตัว

   ด้วยวิธีเลี้ยงกบแแบบธรรมชาติ ส่งผลให้กองกำลังสุรนารีได้นำกำลังพลเข้ามาฝึกการเลี้ยงกบกับนายบุญธรรม เรือนน้อย จำนวน 122 นาย โดยมีเป้าหมายที่จะนำกบพระราชทานเข้าสู่ชุมชนตามแนวชายแดนในเขตรับผิดชอบของกองกำลังสุรนารี สนองพระราชดำริในโครงการทหารพันธุ์ดี “ชุมชนเบิกบาน อาหารปลอดภัย”เพื่อเป็นแหล่งอาหารโปรตีนเข้าสู่ครัวเรือนของราษฎร

   โอกาสนี้ ทรงมีพระราชปฏิสันถารและมีรับสั่งให้กำลังใจแก่ราษฎรที่เข้าร่วมโครงการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวหอมมะลิ 105 พระราชทาน “เพื่อนช่วยเพื่อน” บ้านกระเบื้อง ซึ่งในปี 2563 สามารถผลิตพันธุ์ข้าวผ่านเกณฑ์เป็นเมล็ดพันธุ์ข้าวหอมมะลิ 105 พระราชทาน ได้จำนวน 66,037 กิโลกรัม

   จากนั้น ในเวลาบ่ายได้ทอดพระเนตรศูนย์พัฒนาพันธุ์พืชจักรพันธ์เพ็ญศิริ จังหวัดสุรินทร์ ซึ่งปัจจุบัน มีชุมชนที่เข้าร่วมโครงการผลิตพันธุ์ข้าวหอมมะลิ 105 พระราชทาน ใน 3 จังหวัด คือ ในจังหวัดสุรินทร์ จังหวัดบุรีรัมย์ และจังหวัดศรีสะเกษ

   ในปีนี้ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้พระราชทานเมล็ดพันธุ์ข้าวหอมมะลิ 105 อันเป็นผลผลิตของปี 2563 ที่สะสมสำรองไว้ที่ศูนย์พัฒนาพันธุ์พืชจักรพันธ์เพ็ญศิริ จังหวัดสุรินทร์ จำนวน 951,465 กิโลกรัม แก่ราษฎรที่ประสบภัยแล้งและอุทกภัย รวม 10,945 ราย นำไปเพาะปลูกในพื้นที่ที่ได้รับความเสียหายได้ 62,798 ไร่

   ในการนี้ มูลนิธิชัยพัฒนาได้ดำเนินการสนองพระราชดำริในการช่วยเหลือปัญหาการขาดแคลนน้ำเพื่อการเกษตรในภาคอีสาน ตั้งแต่ปี 2559 โดยได้ปรับปรุงและขุดสระน้ำในแปลงนาของกลุ่มผู้ผลิตพันธุ์ข้าวหอมมะลิ 105 พระราชทานให้ตามความประสงค์ของราษฎรเจ้าของที่นาและเหมาะสมกับสภาพพื้นที่ เพื่อให้มีน้ำเพียงพอในการทำการเกษตร

   อีกทั้ง ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ให้มูลนิธิชัยพัฒนา โดยศูนย์พัฒนาพันธุ์พืชจักรพันธ์เพ็ญศิริ ดำเนินโครงการ ‘ทางนี้มีผล ผู้คนรักกัน’ พระราชทานกิ่งพันธุ์ไม้ผลพันธุ์ดี ให้ชุมชนนำไปปลูกริมถนนและที่สาธารณะในหมู่บ้าน โดยชุมชนที่ได้รับพระราชทานกิ่งพันธุ์จะร่วมด้วยช่วยกันดูแลต้นไม้เหล่านี้ให้เจริญเติบโต และให้ผลผลิตแก่คนทั้งในหมู่บ้านและคนทั่วไปแบ่งปันกันบริโภคตามพระราชประสงค์

      ในเรื่องพันธุ์สัตว์ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้มูลนิธิชัยพัฒนาส่งเสริมราษฎรให้เข้าร่วมเป็นผู้ผลิตพันธุ์พืชและพันธุ์สัตว์พระราชทาน ปัจจุบันศูนย์พัฒนาพันธุ์พืชจักรพันธ์เพ็ญศิริ ได้สนับสนุนและส่งเสริมให้ชุมชนผลิตไก่และเป็ดพระราชทานแล้ว 4 ชุมชน

    นอกจากนี้ มูลนิธิชัยพัฒนาได้ดำเนินการสนองพระราชดำริที่ทรงตระหนักว่า ราษฎรที่เข้าร่วมโครงการได้ตั้งใจ ทุ่มเท และมุ่งมั่นที่จะผลิตพันธุ์ข้าวให้ประณีต แต่อาจด้วยเกณฑ์กำหนดที่สูงของพันธุ์ข้าวพระราชทาน จึงทำให้มีผู้ที่ได้ผลผลิตไม่ผ่านเกณฑ์ โดยให้ศูนย์พัฒนาพันธุ์พืชจักรพันธ์เพ็ญศิริ จัดซื้อข้าวของสมาชิกโครงการที่ไม่ผ่านเกณฑ์เป็นพันธุ์ข้าวพระราชทาน มาสีบรรจุเป็นข้าวสารสำหรับบริโภค โดยใช้ชื่อผลิตภัณฑ์ว่า ข้าวหอมมะลิ ‘จันกะผัก’

   จากนั้น ทรงรับฟังผลการดำเนินงานการส่งเสริมการทอผ้าไหมย้อมสีธรรมชาติ ซึ่งมีพระราชดำริให้ศูนย์พัฒนาพันธุ์พืชจักรพันธ์เพ็ญศิริ จังหวัดสุรินทร์ เข้าดำเนินการ และต่อมามูลนิธิชัยพัฒนา โดยโครงการภัทรพัฒน์ ได้ร่วมกับอาจารย์และนักศึกษา สาขาวิชาการออกแบบสิ่งทอ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ทำโครงการพัฒนาการออกแบบอย่างยั่งยืนเพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับผลิตภัณฑ์หัตถกรรมจากต้นกก โดยใช้หลักการเรียนรู้ร่วมกันระหว่างปราชญ์ท้องถิ่น นักศึกษา อาจารย์ มาช่วยกันพัฒนาการย้อม การพิมพ์ การตกแต่งผิวหน้า การทอ และการออกแบบผลิตภัณฑ์ นับเป็นการต่อยอดผลิตภัณฑ์จากต้นกกที่ยังคงรักษาภูมิปัญญาและวัฒนาธรรมของท้องถิ่นไว้

   โอกาสนี้ ทรงมีพระราชปฏิสันถารกับกลุ่มผู้ผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวหอมมะลิ 105 พระราชทาน ‘เพื่อนช่วยเพื่อน’ จังหวัดสุรินทร์ จำนวน 7 กลุ่ม ที่มาเฝ้าฯรับเสด็จ

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 


ข้อมูลจาก: สำนักงานมูลนิธิชัยพัฒนา 

ข้อมูลที่เกี่ยวข้อง